การดูแลผู้ป่วยติดเตียง ขั้นพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อน
ผู้ป่วยติดเตียง หมายถึง ผู้ป่วยที่มีสภาวะร่างกายเสื่อมโทรม ไม่สามารถเคลื่อนไหว ลุกเดิน หรือบางรายอาจขยับตัวได้บ้างแต่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เหมือนคนปกติ จึงทำให้ต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา อาจมีสาเหตุมาจากความเจ็บป่วยเรื้อรัง การประสบอุบัติเหตุ ภาวะอัมพาต การผ่าตัดใหญ่ ผู้ป่วยที่มีโรคร้าย หรือผู้ป่วยที่มีความเจ็บป่วยรุนแรงที่ต้องรักษาในท่านอน ดูแลผู้ป่วยติดเตียง เชียงใหม่
การดูแลผู้ป่วยติดเตียงต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ ทราบถึงข้อควรระวัง และเอาใจใส่เป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เมื่อผู้ป่วยต้องอยู่ในท่านอนตลอดเวลาอาจส่งผลให้มีอาการข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนตามมาได้
อาการข้างเคียง และ การดูแลผู้ป่วยติดเตียง ขั้นพื้นฐาน ดูแลผู้ป่วยติดเตียง เชียงใหม่
-
แผลกดทับ
เนื่องจากผู้ป่วยติดเตียงต้องนอนนิ่ง ๆ เป็นระยะเวลานาน บางรายไม่สามารถพลิกตัวเองได้ จึงส่งผลให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงบริเวณผิวหนังและเนื้อเยื่อในบริเวณที่ถูกกดทับ จนเกิดการสะสมของเสีย มีการบาดเจ็บ จนทำให้ผิวหนังลอก มีรอยแดง ชา หรือรู้สึกเจ็บผิดปกติ หากปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดแผลเปิดและแผลลึกถึงชั้นกระดูก รุนแรงจนเกิดเนื้อตายหรือลุกลาม
การป้องกันแผลกดทับ ให้พลิกตะแคงผู้ป่วยทุก 2 ชั่วโมง โดยใช้ผ้ายกตัวเพื่อป้องกันการเสียดสี และจัดท่าผู้ป่วยให้อยู่ในท่าที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการกดทับบริเวณที่มีแผล หมั่นทำความสะอาดบริเวณผิวหนังให้สะอาด ไม่ให้เปียกชื้น โดยเฉพาะหลังปัสสาวะและอุจจาระ ทาครีมหรือวาสลีนเพื่อลดอาการแห้งแตกของผิวหนัง
-
ภาวะกลืนลำบาก สำลักอาหาร
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ภาวะสมองเสื่อม โรคพาร์กินสัน โรคทางระบบประสาท โรคทางจิตเวช โรคที่ทำให้กล้ามเนื้อมีภาวะเกร็ง รวมถึงผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางช่องปาก ส่งผลให้ความสามารถในการกลืนอาหารลดลง และทำให้เกิดการสำลักตามมาได้ หากเกิดการสำลักอาหารเข้าไปในทางเดินหายใจ อาจส่งผลให้เกิดภาวะปอดติดเชื้อหรืออักเสบตามมาได้
การป้องกันภาวะกลืนลำบากและสำลักอาหาร ควรปรับเตียงให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านั่ง 45-90 องศา เพื่อลดความเสี่ยงในการสำลักอาหาร ทั้งระหว่างและหลังรับประทานอาหาร 1 ชั่วโมง หากผู้ป่วยมีความเสี่ยงในการสำลักอาหาร ควรเลือกอาหารที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการสำลักอาหาร จนหลุดเข้าไปในหลอดลม ผู้ดูแลสามารถช่วยฝึกกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อในท่านั่ง โดยให้ผู้ป่วยกลืนน้ำลายค้างไว้นับ 1-2-3 นับเป็น 1 รอบ ทำซ้ำ 5 รอบ ถ้าผู้สูงอายุกลืนน้ำลายไม่ได้ ให้ใช้นิ้วชี้กับนิ้วกลางกดบริเวณใต้คาง ลงมาเรื่อย ๆ ช้า ๆ จนถึงบริเวณเหนือรอยบุ๋มระหว่างคอ ทำ 3 รอบ หากผู้ป่วยไม่สามารถทำได้ ให้ปรึกษานักกิจกรรมบำบัด เพื่อตรวจประเมินและบำบัดฟื้นฟูอย่างละเอียด
-
กล้ามเนื้อฝ่อลีบ
เนื่องจากผู้ป่วยนอนอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน ไม่สามารถขยับตัวหรือเคลื่อนไหวร่างกายได้ ทำให้กล้ามเนื้อทำงานน้อยลง สูญเสียความแข็งแรง จนฝ่อลีบลงเรื่อย ๆซึ่งจะเห็นได้ชัดจากกล้ามเนื้อต้นแขน และน่องที่ฝ่อลีบลง
การปิ้งกันสามารถทำได้โดยผู้ดูแลควรจัดท่าบริหารกล้ามเนื้อในแต่ละส่วนให้กับผู้ป่วยเป็นระยะและสม่ำเสมอ เพื่อให้กล้ามเนื้อได้เคลื่อนไหว โดยให้ผู้ป่วยนอนหงาย ยกแขนและขาทีละข้างขึ้นสุดเท่าที่ทำได้และค่อยผ่อนขาลง ช้า ๆ ทำ 10 ครั้ง ต่อรอบ ทำ 3 รอบ
-
ท้องผูก
ผู้ป่วยติดเตียงสามารถท้องผูกได้ เนื่องจากการรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย ดื่มน้ำน้อย และเคลื่อนไหวร่างกายน้อย ส่งผลให้ลำไส้มีการเคลื่อนไหว และบีบตัวน้อยลง หากปล่อยไว้จนเกิดภาวะท้องผูกเรื้อรัง อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและโรคอื่น ๆ ตามมาได้
การป้องกันภาวะท้องผูก ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำอย่างเพียงพอ (มากกว่า 1,000 มล. ต่อวัน) หากไม่มีข้อห้ามดูแลการรับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูงเช่น ผักและผลไม้ ปรับกิจกรรมให้มีการเคลื่อนไหวร่างกาย ผู้ดูแลจัดท่าบริหารให้ผู้ป่วย เช่น พลิกตัว ยกสะโพก หรือยกขาทีละข้าง ในกรณีมีภาวะท้องผูกมาก แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ในการใช้ยาระบาย
-
ภาวะสุขภาพจิต
ผู้ป่วยติดเตียงนอกจากจะมีปัญหาด้านสุขภาพกายแล้ว ผู้ป่วยมักมีปัญหาด้านสภาพจิตใจด้วย เกิดจากความเครียดที่ไม่สามารถทำอะไรด้วยตนเอง และใช้ชีวิตประจำวันได้เช่นเดิม ผู้ป่วยอาจมีพฤติกรรม ความคิด และอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น นอนไม่หลับ ก้าวร้าว หงุดหงิดง่าย การดูแลผู้ป่วยติดเตียงให้มีสุขภาพจิตที่ดี ถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย
การป้องกันภาวะสุขภาพจิต ผู้ดูแลควรเอาใจใส่และใจเย็น ใช้น้ำเสียงที่นุ่มนวลน่าฟัง ไม่ตอบโต้ผู้ป่วยติดเตียงด้วยความรุนแรง ชวนผู้ป่วยคุยและเป็นผู้ฟังที่ดี ชื่นชมในสิ่งที่ผู้ป่วยเล่าให้ฟัง จัดกิจกรรมผ่อนคลาย เช่น การทำสมาธิ ดูหนัง ฟังเพลง
สภาวะและอาการแทรกซ้อน ของผู้ป่วยติดเตียงจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด จากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยติดเตียงหรือเคยผ่านการอบรมการดูแลผู้ป่วยติดเตียงมาก่อน มีความรู้ในการดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่มีภาวะร่างกาย โรคประจำตัว ข้อควรระวัง และข้อห้ามที่แตกต่างกัน รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันและการทำกายภาพบำบัด หากผู้ป่วยติดเตียงได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม จากทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่มีประสิทธิภาพ ก็จะมั่นใจได้ว่าสามารถช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นฟูร่างกายได้เร็วขึ้น ลดอาการข้างเคียง และภาวะแทรกซ้อนที่จะส่งผลเสียตามมาได้
ธนรัฎ เฮลท์แคร์ | ดูแลผู้ป่วยติดเตียง เชียงใหม่
ข้อมูลอ้างอิง